วันอาทิตย์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

พะยอม

พะยอม
พะยอม ชื่อสามัญ Shorea, White meranti

พะยอม ชื่อวิทยาศาสตร์ Shorea roxburghii G.Don (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Shorea talura Roxb.) จัดอยู่ในวงศ์ยางนา (DIPTEROCARPACEAE)

สมุนไพรพะยอม มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า แดน (เลย), ยางหยวก (น่าน), กะยอม เชียง เซียว เซี่ย (เชียงใหม่), พะยอมทอง (ปราจีนบุรี สุราษฎร์ธานี), ขะยอมดง พะยอมดง (ภาคเหนือ), สุกรม (ภาคกลาง), คะยอม ขะยอม (อีสาน), ยอม (ภาคใต้), ขะยอม (ลาว), พะยอมแดง แคน พยอม เป็นต้น

ลักษณะของต้นพะยอม
ต้นพะยอม (ต้นพยอม) มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยและเอเชีย เช่น ประเทศพม่า ลาว ศรีลังกา และฟิลิปปินส์ จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผลัดใบ มีความสูงประมาณ 15-20 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางของลำต้นอาจยาวถึง 300 เซนติเมตร เปลือกต้นมีสีน้ำตาลหรือสีเทาเข้ม แตกเป็นร่องตามยาวและเป็นสะเก็ดหนา ส่วนเนื้อไม้มีสีเหลืองถึงสีน้ำตาล ลักษณะของต้นเป็นทรงพุ่มกลมสวยงามมาก แตกกิ่งก้านจำนวนมาก ถ้าหากปลูกในที่โล่งแจ้งและไม่มีพรรณไม้ใหญ่ชนิดอื่นอยู่ใกล้ ๆ เป็นต้นไม้ที่สวยโดยธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องทำการตัดแต่งกิ่งแต่อย่างใด ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่ง ซึ่งในปัจจุบันพันธุ์ไม้ชนิดนี้กำลังเริ่มลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ โดยสามารถพบได้ตามป่าเบญจพรรณแล้งและชื้น หรือป่าดิบแล้งทั่วไป ทุกภาคของประเทศที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล 60-1,200 เมตร และดอกพะยอมยังเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ด้วย
ต้นพะยอม

ต้นพยอม

พยอม

ใบพะยอม ลักษณะของใบเป็นรูปมนรี ผิวใบเกลี้ยงเป็นมัน โคนใบสอบมน ปลายใบแหลม ขอบเรียบเป็นคลื่น ด้านหลังใบจะมีเส้นใบมองเห็นชัดเจน ใบมีความยาวประมาณ 12-18 เซนติเมตรและกว้างประมาณ 6-8 เซนติเมตร
ใบพยอม

ดอกพะยอม (ดอกพยอม) ออกดอกเป็นช่อใหญ่ ออกดอกตามส่วนยอดของต้น ดอกมีสีเหลืองอ่อนและมีกลิ่นหอม ดอกมีกลีบ 3 กลีบ กลีบดอกเรียบโค้งเล็กน้อย ยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร โคนกลีบดอกติดกับก้านดอก มีลักษณะกลม ออกดอกพร้อมกันเกือบทั้งต้น โดยจะออกดอกในช่วยเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์
ดอกพยอม

ดอกพะยอม

ผลพะยอม ผลแห้งมีปีกแบบ Samara ลักษณะเป็นทรงไข่และกระสวย ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ซ่อนตัวอยู่ในกระพุ้ง โคนปีกมี 5 ปีก ประกอบด้วยปีกยาวรูปขอบขนาน 3 ปีก ยาวประมาณ 8 เซนติเมตร มีเส้นตามยาวของปีกประมาณ 10 เส้น และปีกสั้นมี 2 ปีก มีความยาวไม่เกิน 3 เซนติเมตร ในผลมีเมล็ดหนึ่งเมล็ด ออกผลในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม
ผลพะยอม

สรรพคุณของพะยอม
พยอม สรรพคุณของดอกช่วยบำรุงหัวใจ (ดอก)
สรรพคุณสมุนไพรพยอม ดอกใช้ผสมเป็นยาแก้ไข้ (ดอก)
ดอกใช้ทำเป็นยาหอมไว้แก้ลม (ดอก)
สรรพคุณต้นพยอมช่วยแก้อาการท้องร่วง ท้องเดิน (เปลือกต้น)
เปลือกต้นใช้กินแทนหมาก ช่วยแก้ลำไส้อักเสบได้ (เปลือกต้น)
เปลือกต้นมีสีสาร Tannin มาก สามารถใช้เป็นยาฝาดสมานแผลในลำไส้ได้ (เปลือกต้น)
สรรพคุณพยอมช่วยสมานบาดแผล ชำระบาดแผล ด้วยการใช้เปลือกต้นนำมาฝนแล้วทาบริเวณบาดแผล


ประโยชน์ของพะยอม
ดอกอ่อนสามารถนำมารับประทานสดได้ หรือจะนำมาลวกเป็นผักไว้จิ้มกินกับน้ำพริก ใช้ผัดกับไข่ ชุบไข่ทอด หรือจะนำมารับประทานเป็นน้ำซุปร้อน ๆ โดยนำมาแกงส้มก็ได้เช่นกัน โดยคุณค่าทางโภชนาการของดอกพะยอมในส่วนที่กินได้ต่อ 100 กรัม ประกอบไปด้วยคาร์โบไฮเดรต 7.2 กรัม, โปรตีน 4.4 กรัม, ไขมัน 1.1 กรัม, เส้นใย 2.8 กรัม, ธาตุเหล็ก 0.3 มิลลิกรัม, และธาตุแคลเซียม 46 มิลลิกรัม
ไม้พะยอม มีสีเหลืองอ่อนถึงสีน้ำตาล สามารถนำมาใช้ในการก่อสร้างทั่ว ๆไปได้ เช่น การทำเสาบ้าน ขื่อ รอด ตง พื้น ทำฝา เรือขุด เครื่องบนเสากระโดงเรือ แจว พาย กรรเชียง คราด ครก สาก ลูกหีบ กระเดื่อง ตัวถังรถ ซี่ล่อเกวียน กระเบื้องไม้ นำไปใช้ทำหมอนรถไฟ และนำมาใช้แทนไม้ตะเคียนทองเพราะมีลักษณะคล้าย ๆ กัน เป็นต้น
ประโยชน์ของพะยอม เปลือกต้นสามารถใช้รับประทานกับใบพลูแทนหมากได้
เปลือกต้นและเนื้อไม้นำมาสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใส่ในกระบอกไม้ไผ่ ไว้ใช้รองน้ำตาลสดจากต้นมะพร้าวและน้ำตาลจากต้นตาลโตนด
เปลือกต้นหรือไม้ชิ้นเล็ก ๆ นำมาใช้ใส่เครื่องหมักดองเพื่อกันบูดกันเสียได้
ชันที่ได้จากต้นพะยอมสามารถใช้ผสมกับน้ำมันทาไม้ ยาแนวเรือได้
เปลือกต้นมีสารแทนนินชนิด Pyrogallol และ Catechol ในปริมาณสูง จึงนิยมนำมาใช้ในอุตสาหกรรมฟอกหนัง
พะยอมเป็นต้นไม้ที่สามารถปลูกได้ดีในที่แล้ง ซึ่งอาจปลูกไว้เพื่อความสวยงามให้ร่มเงาตามบ้านเรือนก็ได้ และดอกยังมีความสวยงามมาก แต่จะออกดอกปีละครั้ง และออกดอกพร้อมกันทั้งต้นดูสวยงามมาก
คนไทยโบราณเชื่อว่า บ้านใดที่ปลูกต้นพะยอมไว้ประจำบ้าน จะช่วยทำให้คนในบ้านมีนิสัยที่อ่อนน้อม เพราะคำว่าพะยอมมีความหมายว่า การยินยอม ตกลง ผ่อนผัน หรือประนีประนอมนั่นเอง และยังเชื่อว่าจะช่วยทำให้ไม่ขัดสนในเรื่องต่าง ๆ รวมไปถึงเรื่องเงินทองด้วย เพราะจะทำให้ผู้คนต่างให้ความเห็นใจนั่นเอง โดยการปลูกเพื่อเอาคุณนั้นให้ปลูกไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือและควรปลูกในวันเสาร์


แหล่งอ้างอิง : เว็บไซต์ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.), เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน), เว็บไซต์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม), เว็บไซต์หมอชาวบ้าน (เดชา ศิริภัทร)

ภาพประกอบ : เว็บไซต์ magnoliathailand.com (by สมศักดิ์), www.siamensis.org (by สมศักดิ์), www.the-than.com, www.treeofthai.com

ไม่มีความคิดเห็น: